วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Modernism and Post-modernism

Modernism and Post-modernism

Modernism and Post-modernism
     สังคมที่เราอาศัยอยู่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา มีแนวคิดและการปฏิบัติที่แตกต่างขัดแย้งกันอยู่เสมอ แนวคิดและการปฏิบัติถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดปัญหาสังคมทุกยุคทุกสมัย  ในสังคมวิทยา ก็มีการคิดและการปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง มีการคิดใหม่และทำใหม่อยู่เสมอ  (Meta-theories) ดังนั้น การศึกษาสังคมวิทยาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาวิเคราะห์รู้เข้าใจแนวความคิดทางสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยทั้งใหม่และเก่า เพื่อความรู้เข้าใจสังคมวิทยาปัจจุบัน จึงขอเสนอแนวความคิดทางสังคม 2 ประเภท คือ ความคิดสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ (Modernism and Postmodernism) ดังนี้

ความคิดสมัยใหม่ (Modernism) 

 
      ความคิดสมัยใหม่ (Modernism, Modernity or Modernization) ตาม Habermas (1987) และ Barry Smart กล่าวเอาไว้ว่า เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 มาจากภาษาละตินว่า “modernus = modern” เป็นการพยายามทำให้เกิดความแตกต่างกันใหม่ในชาวคริสต์ จากการนับถือศรัทธาพระเจ้าไปสู่สิ่งอื่น แล้วต่อมาไม่นาน ก็มีการพยายามทำให้เกิดความแตกต่างกันใหม่อีกในชาวคริสต์ จากการนับถือศรัทธาพระเจ้าไปแสวงหาความรู้จริงสิ่งสากล พยายามรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายในสากลโลกตามความเป็นจริง รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายด้วยจิตหรือปัญญา เพราะอิทธิพลแนวความความคิดของคานต์ (Kant’s conception of a universal history) เป็นกระบวนการความแตกต่างทางความคิดและวัฒนธรรมจากเก่าไปสู่ใหม่ (Turner, 1991: 3) เป็นการแสวงหาความรู้จริงของสิ่งต่างๆ ทั้งหลายตามการเปลี่ยนแปลงเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของโลกทางสังคม เพราะความเป็นมาของสังคมนี้เชื่อศรัทธาในพระเจ้าเป็นผู้สร้างกำหนดบันดาล ไม่เชื่อมนุษย์และธรรมชาติคือผู้สร้างกำหนดแสดง
       แนวคิดใหม่ทันสมัย นักปราชญ์หรือนักคิดทางสังคมบางคนกล่าวบอกว่า ควรนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 เพราะเป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) แต่นักสังคมวิทยาส่วนใหญ่เห็นว่า แนวคิดใหม่ทันสมัย (Modernism) เป็นยุคประวัติศาสตร์ของสังคมยุโรปตะวันตก ที่เกิดการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพราะในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 เป็นยุคที่สนใจศึกษาค้นคว้าปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบวิทยาศาสตร์ (Scientism) มาช่วยแก้ปัญหาสังคมทั้งหลายที่เกิดขึ้น แล้วส่งผลมีอิทธิพลต่อการศึกษาสังคมวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ของคองต์ในเวลาต่อมา (Comte’s positivism)
        ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงถือได้ว่าเป็นยุคความคิดใหม่ทันสมัย  (Modernism) อันหมายถึงยุคสมัยให้ความสนใจในเรื่องศิลปะ วรรณคดี วิทยาการ สถาบัน  เหตุผล  การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์  รูปแบบของชีวิต ความจริงของชีวิตบนฐานของความเจริญเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก กล่าวคือเป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญทางวัตถุ ความมั่นคงทางสังคม และความรู้เข้าใจตนเอง (Material progress, social stability and self-realization) ในยุโรปตะวันตก มีอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส  อิตาลี เป็นต้น แม้มีปัจจัยต่างๆ มากมายที่ทำให้เกิดสมัยใหม่ ปัจจัยสำคัญเหล่านี้ คือ ความจริง (Truth) เหตุผล (Rationality) วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) ผลของอุตสาหกรรม (Emergence of capitalism) การแผ่อำนาจทางตะวันตก (Western imperialism) การแพร่กระจายความรู้ และอำนาจทางการเมือง (Spread of literature and political power) การขับเคลื่อนทางสังคม (Social mobility)    เป็นสาเหตุสำคัญสนับสนุนส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคมโลก ที่เรียกกันว่าสมัยใหม่ความทันสมัย (Modernism)” เพราะผลของความเจริญทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนทางสังคม ทำให้มนุษย์ต้องการรู้เข้าใจตนเองและสังคมมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ทำให้ต้องมาคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อความถูกต้องดีงามแบบสากล แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโลกร่วมกัน เพื่อความรู้เข้าใจใหม่ร่วมกัน จึงขอลำดับเหตุการณ์การวิวัฒนาการแนวความคิดใหม่ทันสมัย ดังนี้
     
       คริสต์ศตวรรษที่ 14 ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ               ในสังคมยุโรปตะวันตก ได้สนใจและค้นพบวิทยาการเก่าๆ ทั้งหลาย โดยเฉาะงานของเพลโต้ (Plato) และอริสโตเติ้ล (Aristotle) ยุคนี้ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูอย่างมาก แต่ก็มีกลุ่มนักคิดนักปราชญ์พยายามปฏิเสธความเชื่อและคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้า เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า เป็นสิ่งไม่มีตัวตน มองไม่เห็นสัมผัสจับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องงมงายไร้เหตุผลพิสูจน์ไม่ได้ จึงได้เกิดแนวคิดความเชื่อและลัทธิใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะความคิดความเชื่อในเรื่องความเป็นมนุษย์ ความจริงความถูกต้องดีงาม มาแทนความคิดความเชื่อเคารพศรัทธาในเรื่องพระเจ้า พยายามไล่กำจัดพระเจ้าออกไปจากสังคมมนุษย์ เพราะอิทธิพลแนวความคิดของเพลโต้ (Plato) และอริสโตเติ้ล (Aristotle)  มองเห็นคำสอนของศาสนาดั้งเดิมเป็นของเก่าล้าหลังไม่ทันสมัย เป็นการจุดประกายแสวงหาความจริงความถูกต้องดีงามขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากถูกปิดกั้นมานาน โดยแนวความคิดความเชื่อที่ว่า  สรรพสิ่งทุกอย่าง มนุษย์ โลก มาจากเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างกำหนดลิขิตบันดาลให้เป็นไปในโลกทางสังคม ทรงเอาพระทัยใส่ใจดูแลทุกสิ่งทุกอย่างให้ดำเนินไปด้วยดี  สร้างมนุษย์ขึ้นมาก็เพื่อให้รู้จักกับพระองค์ท่าน ต้องปฏิบัติตามหลักคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน มีความจงรักภักดีศรัทธาในพระองค์ท่าน ตายไปแล้วไปอยู่กับพระองค์ท่านในสวรรค์ ชีวิตเกิดขึ้นเป็นไปตามลิขิตบัญชาของพระองค์ท่านหรือเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นี้ แนวคิดอย่างนี้เชื่อศรัทธาพระเจ้ามีอิทธิพลบทบาทอย่างมากต่อชีวิตและจิตใจของชาวโลกตะวันตกถึงปัจจุบัน
            
           คริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ยุคแห่งการสำรวจและปฏิรูปศาสนาคริสต์              ศตวรรษนี้ถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการสำรวจ พร้อมกับเผยแผ่ศาสนาวัฒนธรรมล่าอาณานิคมหรือล่าเมืองขึ้น (ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาของเรา, 1350-1767 AD) วิทยาการที่เจริญก้าวหน้าขึ้นทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์และการเดินเรือ นักสำรวจชาวยุโรปต่างพากันออกทะเลล่องเรือสำรวจโลกใหม่ทั้งทางตะวันตกและตะวันออกที่พวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นทวีปเอเชีย อเมริกา อาฟริกาหรือออสเตรเลีย การเดินทางของพวกเขาถือได้ว่าเป็นการเผยแผ่เชื่อมโยงวัฒนธรรมของโลกเป็นครั้งแรก เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่กระจาย ความทันสมัยแบบตะวันตกไปทั่วโลก            ความเป็นไปในทุกระบบของสังคม มักมีศาสนาเข้าไปมีอิทธิพลบทบาทเกี่ยวข้องในทุกส่วน ระหว่างยุคกลางสังคมยุโรป (1000 – 1500 AD)  คริสต์ศาสนาอิทธิพลบทบาทอย่างมากในทุกระบบของสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เพราะความเจริญเปลี่ยนแปลงทางสังคม การปฏิรูปศาสนาคริสต์โดยคริสต์ศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งก็เกิดขึ้น โดยการตั้งนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นมา  เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า คริสต์ศาสนาแบบดั้งเดิมนิกายคาทอลิกเก่าล้าหลังไม่ทันสมัย ไม่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตทางสังคมให้ดีขึ้น ซ้ำยังเป็นแหล่งมั่วสุมอิทธิพลผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และพวกเขาเชื่อว่า คำสอนของนิกายใหม่โปรเตสแตนต์จะช่วยฟื้นฟูสนับสนุนส่งเสริมคำสอนเดิมให้ทันสมัยเหมาะสมกับยุคสมัยอย่างแท้จริง สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้ ทำให้เกิดการขัดแย้งทางความคิดและการปฏิบัติอย่างรุนแรง สร้างความสับสนสงสัยในศาสนาคำสอนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้คริสต์ศาสนาแบบดั้งเดิมลดอำนาจอิทธิพลและบทบาทลงเป็นอย่างมาก นำไปสู่การแตกแยกระหว่างอาณาจักรและศาสนจักรในเวลาต่อมา 
          คริสต์ศตวรรษที่ 17 ยุคแห่งวิทยาศาสตร์              ในศตวรรษนี้ ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลบทบาททางสังคมและการเมืองลดน้อยลงตามลำดับ (Secularization) เมื่อมีความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาและวิทยาศาสตร์มากขึ้น มนุษย์รู้จักใช้ปัญญาอย่างมีเหตุผล คิดมองเห็นชีวิตและสังคมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องของเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้เป็นไป แต่เป็นเรื่องของความจริงมีเหตุผล คนเลยหันไปสนใจในความจริงธรรมชาติและเหตุผลมากขึ้น สนใจความเป็นจริงของมนุษย์และโลกทางสังคม ศึกษาหาความรู้ต่างๆ ทั้งหลายที่สามารถพิสูจน์ทดลองได้ตามหลักวิธีการทางวิทยาศาสตร์  ศึกษาค้นคว้าพิสูจน์ทดลองอย่างมีเหตุผลเป็นระเบียบแบบแผน ที่เรียกกันว่าวิทยาศาสตร์สมัยใหม่” (New science)
            ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายพรั่งพร้อมไปด้วยวัตถุเครื่องอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ ละเลยไม่สนใจความสุขทางจิตใจ เป็นสังคมวัตถุหรือวัตถุนิยม ความเจริญทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีใหม่ต่างๆ มากมาย  ช่วยในการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและความเร้นลับทั้งหลายที่เคยสงสัยกันมา คำถามที่วิทยาศาสตร์พยายามแสวงหาคำตอบ คือ ความจริงแท้ของความเป็นมนุษย์คืออะไร มนุษย์จะปฏิบัติตนต่อสิ่งต่างๆ ทั้งหลายให้ถูกต้องได้อย่างไร พยายามรู้เข้าใจตนเองและสังคมอย่างถ่องแท้ เป็นคำถามเกี่ยวกับรูปแบบชีวิตและหลักการดำเนินชีวิตจริง โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตและสังคมมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการคิดใหม่ เขียนเรียบเรียงใหม่ และตั้งทฤษฎีใหม่ในหลายศาสตร์หลายด้าน (Metatheory = second order accounts of theories or second order theories of theories) ไม่ว่าในวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ แพทยศาสตร์ ไม่ว่าทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และพฤติกรรมมนุษย์ มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ กลายเป็นว่าความรู้แนวคิดทฤษฎีทั้งหลายที่มีอยู่เดิมนั้น ไม่ดีไม่ถูกต้องเที่ยงธรรมไม่มีเหตุผลไร้ประสิทธิภาพประสิทธิผลในการปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

ความคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism)             

       จากการศึกษาวิเคราะห์สังคมและวัฒนธรรมตะวันตก พอจะได้ภาพปรากฏการณ์ธรรมชาติทั่วไปว่า  สังคมโลกตะวันตกเป็นสังคมที่เจริญพัฒนาถึงจุดสูงสุด พรั่งพร้อมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ เป็นสังคมที่ผ่านพ้นความเจริญสูงสุดหรือผ่านเลยสังคมอุตสาหกรรมไปแล้ว (Postmodern society or postindustrial society) ผู้คนในยุคนี้หนักไปในการเสพบริโภคใช้สอย ที่เรียกกันว่า สังคมบริโภค (Consumer society) ภูมิหลังทางวัฒนธรรม  เป็นสังคมที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระเจ้า เชื่อศรัทธาในเรื่องเทพเจ้า ในสากลโลกนี้ มีพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งทรงพลานุภาพสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด ทรงสร้างสรรค์สรรพสิ่งทุกอย่าง ทรงกำหนดลิขิตบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างตามอำนาจของตน ทรงเอาพระทัยใส่ใจดูแลทุกสิ่งทุกอย่างให้ดำเนินไปด้วยดี สร้างมนุษย์ขึ้นมาก็เพื่อให้รู้จักกับพระองค์ท่าน มนุษย์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน เพื่อให้พระองค์ท่านโปรดปราน ตายไปแล้วไปอยู่กับพระองค์ท่านในสวรรค์ตลอดกาล ผู้ที่ไม่เคารพศรัทธายำเกรงในพระผู้เป็นเจ้า ตายไปแล้วดวงวิญญาณของเขาก็จะไปอยู่ในนรกตลอดกาลเช่นกัน แนวคิดและการปฏิบัติในลักษณะนี้ยังมีอิทธิพลแพร่กระจายครอบคลุมไปทั่วสังคม แม้ว่าสังคมตะวันตกเจริญพัฒนาถึงจุดสูงสุด พรั่งพร้อมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุ แทนที่จะสุขสมหวังกับความพรั่งพร้อมสมบูรณ์นั้น แต่กลับผิดหวังหาคุณค่าความหมายของชีวิตไม่ได้เหมือนเดิม กลับสร้างปัญหาก่อความเดือดร้อนให้กับสังคมมากกว่าเดิม เพราะขาดแคลนแร้นแค้นวัฒนธรรมทางจิต เกิดวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรมทางจิตอยู่เสมอ สับสนสงสัยไม่รู้เข้าใจในความจริงของชีวิตและหลักการดำเนินชีวิตอย่างต่อเนื่อง พยายามสนใจใฝ่รู้ในเรื่องความเป็นมนุษย์ คุณภาพมนุษย์ และลักษณะมนุษย์ (General sense of humanity, human qualities and identities) ไม่หยุดยั้งแม้แต่ในปัจจุบัน แม้วิทยาการตะวันตกเป็นแม่แบบแพร่กระจายไปทุกวงวิชาการทั่วโลก ความจริง ความรู้ที่เจริญถึงจุดสูงสุดแบบตะวันตกก็ยังไม่สามารถตอบปัญหาชีวิตทางสังคมได้ จึงสำคัญจำเป็นต้องกลับมาคิดทบทวนกระบวนการความคิดและองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งหลายกันใหม่ บนพื้นฐานความจริงสมัยใหม่ทันสมัย 
        ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 สังคมโลกตะวันตก เพื่อความเจริญถูกต้องดีงามของชีวิตและสังคม เกิดมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงพัฒนาแนวคิดทางสังคม เป็นการตีความอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอีกครั้งหนึ่ง ตามปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น อันนำไปสู่การแตกทำลายหรือมาแทนความคิดสมัยใหม่(Modernism) ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสมัยใหม่ทันสมัยและหลังสมัยใหม่ เพราะพวกเขาไม่มีความเชื่อมั่นในวิทยาการความรู้ที่มีอยู่ ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาชีวิตทางสังคมได้อย่างแท้จริง จึงเกิดแนวความคิดทางสังคมตามภาพที่ปรากฏจริงอีกครั้งหนึ่ง ที่เรียกว่า ความคิดหลังสมัยใหม่ทันสมัย (Postmodernism) อันหมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรม ศิลปะ วิทยาการทั้งหลาย ความคิดทฤษฎีทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ความเชื่อและการปฏิบัติ รูปแบบชีวิต หลักการดำเนินชีวิต และเรื่องอื่นๆ ทั้งหลาย ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของโลกสังคมอย่างต่อเนื่องทั้งหมด 
    
อ้างอิง: ความคิดสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่. โดย ดร.สุเทพ สุวีรางกูร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น